ข้อความวิ่ง

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์...สถานที่ท่องเที่ยวเมืองกาญจนบุรี

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา


จังหวัดกาญจนบุรี




       
           สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่าจนถึงยุคโลหะตอนปลายที่บ้านดอนตาเพชร    การพบตะเกียงโรมัน    (อเล็กซานเดรีย)     ที่ตำบลพงตึการพบปราสาทเมืองสิงห์   เป็นต้น  สิ่งต่างๆ    เหล่านี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์ใน ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรี-อยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีมีฐานะเป็นเมืองด่านที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของไทยอย่างมาก เหตุการณ์ที่ปรากฏ เช่น การเดินทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ การรบที่ทุ่งลาดหญ้า ท่าดินแดง และสามสบ จวบจนการย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งที่ปากแพรกหรือลิ้นช้าง เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่
2 ที่ญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้เกณฑ์เชลยศึกทำทางรถไฟไปพม่าซึ่งเรียกกันว่าทางรถไฟสายมรณะ ทำให้เชลยศึกต้องล้มตายเป็นจำนวนมากและฝังอยู่ที่สุสานทหารสหประชาชาติมาจนถึงสงครามอินโดจีน กาญจนบุรีเป็นดินแดนที่เป็นที่ฝึกซ้อมรบเพื่อเตรียมการรบในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ตลอดจนเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่น่าสนใจ   และปัญหาการสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ไม่น้อย
      ในขณะที่ความเชื่อว่าคนไทยเดิมอยู่ไหน กำลังเปลี่ยนแปลง จังหวัดกาญจนบุรีก็ได้รับการสนใจอย่างมาก เพราะจังหวัดกาญจนบุรีเป็นดินแดนที่พบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุด ตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และยุคโลหะ ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้   ภาชนะดินเผา โครงกระดูก เครื่องประดับ ตลอดจนซากพืชซากสัตว์ที่ละทิ้งไว้ตามพื้นดิน ในถ้ำเพิงผา  แสดงว่าได้มีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นเวลานานไม่แพ้แหล่งก่อนประวัติศาสตร์แหล่งอื่นๆ ของโลก
    ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยหินเก่า จากการสำรวจในประเทศไทยพบเครื่องมือหินกรวดโดยศาตราจารย์ฟริตซ์ สารแซง (Fritz Saracen)  ได้เข้ามาสำรวจในปี พ.ศ.  2475  ที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดราชบุรี  และจังหวัดลพบุรี จากการศึกษาพบเครื่องมือที่แท้เพียง 2 - 3 ก้อนเท่านั้น เรียกเครื่องมือหินเก่าที่พบในประเทศไทยว่า “Siaminian Culture” แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ
    หลักฐานของยุคหินเก่าได้ปรากฏชัดเจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกมาสร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุกผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ถึงเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ในจำนวนเชลยศึกนี้มี ดร.แวน ฮีเกอเรน (Dr.Van Heekeren) ชาวฮอลันดาเขาได้พบเครื่องมือหินบริเวณใกล้สถานีบ้านเก่าหลายชิ้น หลังสงครามโลกได้นำไปให้ศาสตราจารย์โมเวียสแห่งสถาบันพีบอดี้มิว -เซียม (Peabody Museum) มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ปรากฏว่าเป็นเครื่องมือสมัยหินเก่าตอนต้น 3 ก้อน เครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียว  6  ก้อน  และขวานหินขัดสมัยหินใหม่  2  ก้อน   ให้ชื่อว่า  วัฒนธรรมแฟงน้อย หรือเฟงน้อยเอียน” (Fingnoian Culture) บางท่านเรียกว่า วัฒนธรรมบ้านเก่า” (Ban-Khaoian Culture) ในปี พ.ศ. 2499 ศาสตราจารย์โมเวียส ได้ส่งลูกศิษย์มาทำการสำรวจโดยร่วมมือกับกรมศิลปากรทำการสำรวจบริเวณหมู่บ้านเก่า จนถึงวังโพ ได้พบเครื่องมือหินกรวด 104 ก้อน
    ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 คณะสำรวจไทยเดนมาร์ก ได้ทำการสำรวจพบเครื่องมือหินเก่าที่บริเวณทุ่งผักหวาน จันเด ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ และที่บ้านท่ามะนาว ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จากเครื่องมือนี้พอสรุปได้ว่า คนสมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรี น่าจะเป็นพวกมนุษย์วานรหรือพวกออสตราลอยด์ แต่ก็มีปัญหาว่าพวกนี้อพยพมาจากที่ใด
    เครื่องมือหินที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีนี้ เป็นหินกะเทาะหน้าเดียวประเภทเครื่องขุดและสับตัด (Chopper-chopping tools) ยังไม่ปรากฏว่าได้พบโครงกระดูกของมนุษย์สมัยนี้เลย ผู้ที่สนใจและทำการสำรวจเรื่องราวของยุคหินเก่าในปัจจุบัน ก็มีคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2524 ท่านได้พบเครื่องมือหินกรวดสมัย  หินเก่าตามริมแม่น้ำตามถ้ำของแม่น้ำแควน้อยใกล้ไทรโยคเป็นจำนวนมาก
    จากร่องรอยของมนุษย์สมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรีนี้ ยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ซึ่งต้องพบหลักฐานมากกว่านี้   แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต้นแม่น้ำทั้งสองของจังหวัดกาญจนบุรี   คือ   แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ ได้ถูกน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนเขาแหลมในปัจจุบัน
    จากหลักฐานที่พบว่า เครื่องมือที่พบหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแบบวัฒนธรรม โฮบิเนียน  (Haobinhian Culture) จากการสำรวจของคณะไทย-เดนมาร์กเมื่อปี  พ.ศ. 2504 ที่ถ้ำเพิงผาหน้าถ้ำพระขอม ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค พบเครื่องมือหินกรวดจำนวนมาก และได้พบโครงกระดูกของผู้ใหญ่ 1 โครง ในระดับลึกจากเพิงผา 110–130 เซนติเมตร   โดยกระดูกนั้นอยู่ในลักษณะนอนหงายชันเข่าอยู่บนก้อนหินใหญ่แห่งหนึ่งในแนวเกือบขนานกับผนังเพิงผา นอนหันหน้าไปด้านขวามือ ศีรษะหันไปทางทิศเหนือฝ่ามือขวาอยู่ใต้คาง แขนท่อนซ้ายวางพาดอก ที่บริเวณส่วนบนของร่าง และบริเวณทรวงอกมีหินควอทซ์ไซท์ก้อนใหญ่วางทับอยู่ตอนเหนือศีรษะ และร่างมีดินสีแดงโรยอยู่ แสดงว่ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพ พบกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวางอยู่บนทรวงอก เปลือกหอยกาบวางอยู่บนร่างหรือใกล้กับร่าง ที่บนแขนขวามีเปลือกหอยทะเลอยู่ 2 ชิ้น เป็นเรื่องน่าแปลกว่าเปลือกหอยทะเลคู่นี้มาได้อย่างไร  จัดว่าโครงกระดูกคนสมัยหินกลาง  โครงนี้เป็นโครงกระดูกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันโครงกระดูกนี้ถูกส่งกลับมาจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติโคเปนเฮเกน มาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช
   นอกจากนี้ ยังพบเครื่องมือหินกะเทาะที่ประณีตขึ้น เป็นเครื่องมือหินอย่างหยาบ ชั้นบนทำเล็กลงและฝีมือดีขึ้น แต่ความก้าวหน้าในการทำเครื่องมือยังช้ามาก เครื่องมือหินนี้จัดอยู่ในวัฒน-ธรรมโฮบิเนียน เพราะพบครั้งแรกที่ประเทศเวียดนาม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยนี้อาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผาใกล้ห้วยลำธาร ไม่ไกลจากแม่น้ำที่มีหินกรวด คนพวกนี้ล่าสัตว์ เก็บผลไม้หาปลา จากการพบกระดูกสัตว์ที่ปนอยู่กับเครื่องมือหินพบว่าคนสมัยนั้นกินหมู กวาง หมี ลิง หอย ปลา ปู เต่าเป็นอาหารและรู้จักการก่อไฟหุงอาหาร
    จากหลักฐานที่พบโครงกระดูกและเครื่องมือหิน ซากพืชและสัตว์ จึงยืนยันได้ว่าจังหวัดกาญจนบุรี เป็นดินแดนที่มนุษย์ได้เคยอาศัยอยู่มาแล้วเป็นเวลานานกว่า 7,000 ปีขึ้นไป นักโบราณคดีเชื่อว่ามนุษย์ยุคหินใหม่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มานานตั้งแต่ 2,000–3,900 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้มีความเจริญกว่าคนยุคหินเก่า หินกลาง คนพวกนี้รู้จักใช้เครื่องมือหินขัดจนเรียบ แทนที่จะกะเทาะอย่างเดียว รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักรสาน เครื่องมือทำด้วยเปลือกหอยและหิน
    ในจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการขุดค้นพบโครงกระดูกสมัยหินใหม่มากมายหลายแห่งเกือบทั่วไปตามริมแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ เช่น บริเวณที่ทำการผสมเทียมกรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมืองกาญจนบุรี บริเวณโกดังขององค์การเหมืองแร่ใกล้วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ถ้ำพระขอม ตำบลไทรโยค และแหล่งที่พบมากที่สุด คือบริเวณบ้านเก่าที่เรียกว่า แหล่งนายบางและ    นายลือ ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งสำรวจพบโดยคณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก            ปีพ.ศ. 2504 ที่เนินดินในไร่ของนางแฉ่ง ประสมทรัพย์ ที่บ้านเก่านี้ ได้พบโครงกระดูกเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคหินใหม่อายุประมาณ  4,000  ปี  เป็นครั้งแรกและมากที่สุดในประเทศไทย จากการรวบรวมวัตถุต่างๆ ได้ถึง 1 ล้านชิ้น เช่น เครื่องปั้นดินเผา ขวานหิน เศษเครื่องมือหินขัด หินลับและหินใช้ขัดโครงกระดูกสัตว์และฟันสัตว์ เปลือกหอย โครงกระดูกจำนวน 44 โครง โดยเฉพาะเครื่องปั้น    ดินเผามีสามขา (Trireds) ตรงกับวัฒนธรรมลุงชาน (Lungshanoid Culture) ของจีน และแบบต่างๆ ของเครื่องปั้นดินเผามี 26 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 แบบ คือ ชนิดมีฐานและไม่มีฐาน
    ต่อมาคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้ทำการขุดค้นบริเวณถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์   และที่ถ้ำเขาสามเหลี่ยม   ตำบลช่องสะเดา    อำเภอเมืองกาญจนบุรี  พบโครงกระดูก เครื่องมือหินภาชนะดินเผาอีกเป็นจำนวนมาก
       ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 นี้ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ทำการขุดค้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ บ้านท่ามะนาว อำเภอเมืองกาญจบุรี พบโครงกระดูกและเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก ยังพบขวานหินขัดทำจากหินประเภทควอทซ์ตระกูลหยก มีลักษณะสีขาวใส ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนเลยในประเทศไทย (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 พฤษภาคม 2525) นอกจากนั้นพบภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ดังนี้
       1. ถ้ำตาด้วง อำเภอศรีสวัสดิ์ บริเวณใกล้เขื่อนท่าทุ่งนา อยู่บนภูเขาสูงชันจากพื้นดินราว 300 เมตร ที่ผนังถ้ำเป็นภาพขบวนแห่ 2 ขบวน แต่ละขบวนมีกลองหรือฆ้องขนาดใหญ่มีคนแบกที่ศีรษะคล้ายกับมีขนนกหรือดอกหญ้าเป็นเครื่องประดับ ขนาดสูงราว 10 เซนติเมตร นอกจากนั้น ยังมีภาพอื่นๆ อีก แต่ลบเลือนจนดูไม่ออก ถ้ำนี้พบเมื่อปี  พ.ศ. 2513 โดยครูด่วน ถ้ำทอง
    2. ถ้ำเขาเขียว ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค เขียนเป็นรูปคน เขียนเป็นเส้นพอให้รู้ว่าแทนคน รูปสัตว์สี่เท้า ยืนให้เห็นด้านข้าง และเป็นรูปสัตว์เห็นทางด้านหน้า
    การพบเรื่องราวของมนุษย์ยุคหินใหม่ต่างๆ มากมาย แสดงว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มานาน เพราะลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่ มีธารน้ำที่ใสสะอาด มีพื้นที่ราบอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการปลูกพืช ล่าสัตว์ ปราศจากโรคระบาด จึงเหมาะที่จะเป็นที่อยู่อาศัยมานานไม่ต่ำกว่า 3,700 ปี มาแล้ว
    จากการสำรวจของคณะไทย-เดนมาร์กที่ถ้ำองบะ และที่อำเภอไทรโยคพบขวานสำริด เศษกำไลสำริด เศษกลองมโหระทึกสำริด 4 ชิ้น ระฆังสำริดขนาดเล็ก 1 ลูก ในปีพ.ศ. 2505 การขุดค้นที่บ้านเก่าก็พบเครื่องมือ เครื่องใช้สำริด เหล็กปนอยู่กับหลุมฝังศพ
       กาญจนบุรีดินแดนก่อนประวัติศาสตร์ คงจะทำให้ท่านรู้จักจังหวัดกาญจนบุรีมากขึ้นในทัศนะหนึ่งและคงสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า แหล่งก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและของโลกกำลังถูกทำลาย และยังท้าทายนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ข้อเท็จจริงกันมากขึ้น สิ่งที่ยังมืดมนยังคงจมอยู่ใต้พื้นดิน ตามริมฝั่งของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่มานานหลายศตวรรษและยังอยู่อีกนานเท่านานจนกว่าจะได้รับการขุดค้นมาศึกษาตีความ ซึ่งคงจะอำนวยประโยชน์ต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษยชาติในปัจจุบันไม่มากก็น้อย
       จากหลักฐานโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในดินแดนประเทศไทย ทำให้เราได้ทราบว่า อารยธรรมอินเดีย ได้หลั่งไหลแผ่เข้ามายังดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 6-7 ชาวอินเดียเรียกประเทศไทยว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" และได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแหลมอินโดจีนพร้อมทั้งได้นำวัฒนธรรมและศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา เข้ามาเผยแพร่ด้วย
             "ฟูนัน" ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และได้แผ่อาณาเขตไปทางทิศตะวันตกถึงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เมื่ออาณาจักร "ฟูนัน" สลายตัวในต้นพุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกิดอาณาจักรที่สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้น ชื่อว่า อาณาจักรทวาราวดี
           เมื่อประมาณ 60-70  ปีมานี้เอง  นักปราชญ์ทางโบราณคดีมีสมเด็จฯ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพและศาสตราจารย์ ยอร์จ เชเดส์ เป็นต้น ได้นำเอาชื่อ "ทวาราวดี" มาใช้กำหนดสมัยของศิลปะโบราณวัตถุ    และโบราณสถานที่พบในประเทศไทยในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  (อันรวมถึงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ฯลฯ ด้วย) เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยอมราวดี สมัยคุปตะ และหลังคุปตะ และได้กำหนดอายุของศิลปะทวาราวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 และศิลปะทวาราวดี ที่แยกไปอยู่ภาคเหนือที่แคว้นหริภุญชัยถึงพุทธศตวรรษที่ 18
       คำว่า   "ทวาราวดี"  เดิมเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากชื่ออาณาจักรที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่า "โถโลโปติ" (To-lo-po-ti) ว่า ตรงกับคำสันสกฤตว่า "ทวาราวดี" และคำนี้ได้ติดอยู่เป็นสร้อยชื่อของนครหลวงของประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2512 ได้มีผู้พบเหรียญเงินมีอักษรจารึกที่นครปฐมคำจารึกเป็นอักษรสันสกฤต รุ่นพุทธศตวรรษที่ 13 มีข้อความว่า "ศรีทวาราวดี ศวร- ปุณยะ" แปลว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวาราวดี" อันแสดงว่าอาณาจักรทวาราวดีนั้นมีจริงในประเทศไทย ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของจังหวัดกาญจนบุรี
       เมืองกาญจนบุรีนั้น เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งโบราณเมืองหนึ่ง ส่วนจะสร้างขึ้นเมื่อไรสมัยใด ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัด หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นจะเป็นพงศาวดารเหนือ ซึ่งกล่าวไว้ในเรื่องพระยากงว่า พระยากงได้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมิได้ระบุว่าปีใด แต่ได้ระบุปีที่พระยาพานไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองลำพูนว่า ตรงกับ จ.ศ. 552 หรือ พ.ศ. 1734 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่พระยาพานได้ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดาแล้ว จึงอาจสรุปว่า พระยากงครองเมืองกาญจนบุรีราว พ.ศ. 1700 แต่เรื่องราวที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือ เป็นเพียงตำนานการสร้างพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐมเท่านั้นยังไม่มีหลักฐานอื่นใดมายืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้แน่ชัด
         เมืองกาญจนบุรียังคงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันสภาพความเป็นเมืองโบราณตามลุ่มแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง ดังต่อไปนี้ ลุ่มน้ำแม่กลองนั้น นับเนื่องในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ถึงแม้จะไม่เคยเป็นที่ตั้งเมืองหลวงก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีชุมชนโบราณอยู่สืบเนื่องกันมาช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กว่าบรรดาลุ่มน้ำอื่นๆ จึงเป็นอาณาบริเวณที่น่าสนใจสมควรนำเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนโบราณที่พัฒนาขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 20
แม่น้ำแม่กลองมีกำเนิดมาจากการรวมตัวของลำน้ำสำคัญสองสาย คือ ลำน้ำแควใหญ่ กับลำน้ำแควน้อยทั้งสองสายมีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรีลำน้ำแควใหญ่ ไหลมาจากเทือกเขาทางเหนือระหว่างเขตจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดกาญจนบุรีไหลมาตามซอกเขาผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ลงมาบรรจบกับลำน้ำแควน้อยที่ตำบลปากแพรกอำเภอเมืองกาญจนบุรี
       ส่วนลำน้ำแควน้อยไหลมาจากซอกเขาซึ่งอยู่ชายแดนประเทศสหภาพพม่าไหลผ่านเขตอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยคและอำเภอเมืองกาญจนบุรีมาบรรจบกับลำน้ำแควใหญ่ที่ที่ตั้งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแม่น้ำแม่กลอง
       จากเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรีแม่น้ำแม่กลองไหลลงสู่ที่ราบลุ่มผ่านอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบางคณที อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ไหลสู่ออกทะเลที่ "บ้านบางเรือหัก" จังหวัดสมุทรสงคราม
       ตามสองฝั่งลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ ของจังหวัดกาญจนบุรี ได้พบหลักฐาน ทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่อยู่ตามถ้ำ ชายเขา และบริเวณใกล้ริมธารน้ำ ลำน้ำ โดยเฉพาะเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนของมนุษย์ในสมัยหินใหม่มาต่อกับยุคโลหะได้มีการขุดค้นศึกษากันอย่างละเอียด โบราณวัตถุในสมัยหินเก่าและหินกลาง ก็ได้พบในเขตต้นน้ำเหล่านี้ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยมาแล้ว ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นปีขึ้นไป แสดงให้เห็นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พากันอพยพลงมาตามลำน้ำเข้าสู่ที่ราบลุ่ม
       ในตอนกลางเมืองมีศาสนสถานตั้งอยู่เป็นปราสาทแบบขอม ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  กรมศิลปากรกำลังดำเนินการขุดแต่งอยู่  ลักษณะศิลปกรรมเป็นแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบบายน ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา แต่ทว่าเป็นฝีมือชาวพื้นเมืองไม่ใช่ชาวขอมมาสร้างอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีลักษณะหยาบกว่าฝีมือช่างขอม การประดับศาสนสถานก็ทำด้วยลวดลายปูนปั้น ซึ่งเป็นศิลปะลพบุรี และมีศิลปะแบบทวาราวดีอยู่บ้าง แสดงลักษณะที่แตกต่างไปจากขอมโดยสิ้นเชิงบรรดากระเบื้องมุงหลังคา เครื่องปั้นดินเผา ทั้งเคลือบและไม่เคลือบ เป็นแบบลพบุรีเลียนแบบขอม เนื้อวัตถุที่ใช้ทำและเคลือบเป็นของท้องถิ่น
       ปราสาทเมืองสิงห์นี้เป็นโบราณสถานเนื่องในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เพราะพบรูปพระโพธิสัตว์ นางปรัชญาปารมิตา และพระพุทธรูปปางนาคปรก เทวรูปปั้นส่วนใหญ่เป็นศิลปะขอมที่นำมาจากกัมพูชาหรือเมืองอื่น เป็นแบบศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 การพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางเปล่งรัศมี ส่วนพระพุทธรูปนั้นส่วนมากเป็นศิลปะลพบุรี เป็นฝีมือช่างพื้นเมืองพระพุทธรูปนาคปรกสร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นฝีมือช่างพื้นเมืองอย่างแท้จริง
      ส่วนลักษณะโบราณสถานของประสาทเมืองสิงห์พอจะอนุมานได้ว่ามีอายุอย่างคร่าวๆ ว่าคงจะสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1700-1750
       เมื่อถึงรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงตั้งเมืองสิงห์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ ขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี มีเจ้าเมือง ส่งหมวดลาดตระเวนไปประจำคอยตรวจตราอยู่เสมอต่อมาถึงรัชกาลที่  4  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงพระราชทานนามเจ้าเมืองสิงห์ว่า" พระสมิงสิงห์บุรินทร์"
       เมืองสิงห์คงเป็นเมืองเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ จึงได้ยุบเมืองสิงห์ลงเป็นตำบลเรียกกันว่า "ตำบลสิงห์"ศาสตราจารย์  หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศสกุล  ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือศิลปลพบุรี  กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พระนคร  เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2510
         ราว พ.ศ. 1700-1750   สมัยนี้ตรงกับรัชกาลของพระจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งประเทศกัมพูชา และมีสถาปัตยกรรมสมัยลพบุรี  พระปรางค์เมืองสิงห์  อำเภอไทรโยค  จังหวัดกาญจนบุรี  มีพระปรางค์องค์เดียวก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ตรงกลาง มีมุขยื่นออกไปทางด้านตะวันออกและมีระเบียงคดก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบมีประตูซุ้มอยู่ทั้ง 4 ทิศ ทั้งหมดนี้มีกำแพงดินซึ่งมีเศษอิฐปูนอยู่ล้อมรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง ได้ค้นพบซากประติมากรรมในศิลปะแบบบายนวางทิ้งอยู่หน้าปราสาทด้วย นอกจากนี้ยังทรงถือกำหนดอายุโดยส่วนรวมของตัวอาคารทั้งหมดไว้ในศิลปะขอมแบบบายนอีกด้วย
         สมัยลพบุรี (พ.ศ. 2500-1799) กาญจนบุรีเป็นเมืองมาแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานจากปรางค์และกำแพงศิลาแลงของเมืองสิงห์ดังได้กล่าวมาแล้ว
ถัดจากเมืองสิงห์ออกไปทางทิศตะวันออกห่างจากลำน้ำแควน้อยประมาณ 5 กิโลเมตร มีเมืองโบราณขนาดเล็กอยู่เมืองหนึ่ง      มีคูน้ำและคัดดินล้อมรอบ    ตั้งอยู่เชิงเขา     ชาวบ้านเรียกว่า "เมืองครุฑ" ยังไมีมีการขุดค้น จากปากคำชาวบ้านบอกว่า แต่ก่อนมีครุฑศิลาทรายอยู่ที่เชิงเขาในเขตเมืองนี้ จึงเรียกว่า "เมืองครุฑ" อันลักษณะการทำครุฑด้วยหินทรายนั้น พบมากในสมัยศิลปลพบุรี เมืองสิงห์ และเมืองครุฑ ตั้งอยู่ห่างไกลกันนัก จึงน่าจะเป็นเมืองในยุคเดียวกัน เมืองครุฑนี้คงเป็นเมืองหน้าด่านและอยู่ในเขตปกครองของเมืองสิงห์
          ทางลำน้ำศรีสวัสดิ์หรือแควใหญ่ ซึ่งอยู่ทางเหนือมีชุมชนโบราณ แต่มีอายุเพียงแค่ปลายสมัยลพบุรีลงมาถึงสมัยอยุธยา อยู่ในเขตบ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า บ้านท่าเสาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำแควใหญ่ มีซากวัดโบราณ เช่น วัดขุนแผน วัดนางพิมพ์ วัดป่าเลไลยก์ ฯลฯ ที่เจดีย์เก่าในเขตวัดนี้เคยมีผู้ขุดพบพระเครื่องแบบลพบุรีตอนปลาย ส่วนที่บ้านลาดหญ้าซึ่งอยู่ต่ำลงมาประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็เคยเป็นที่ตั้งของเมืองกาญจนบุรี(เก่า) ในสมัยอยุธยา เมืองนี้มีขนาดเล็ก คงเป็นเพียงเมืองด่าน
           เมืองกาญจนบุรี (เก่า) เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี มีผู้สำรวจบริเวณเมืองกาญจนบุรี (เก่า) ที่ตั้งอยู่เชิงเขาชนไก่นี้มาแล้ว ว่าบริเวณอันกว้างใหญ่นี้ ปรากฏพบสระน้ำ ซากโบราณสถาน วัดต่างๆ
           ต่อจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีลงไปตามลำแม่น้ำแม่กลอง ในเขตอำเภอท่ามะกามีเมืองชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง     อยู่ในเขตบ้านดงสัก   ตำบลพงตึก  อำเภอท่ามะกาชาวบ้านเรียกชื่อมาแต่ครั้งโบราณว่า "เมืองพงตึก" เพราะพบฐานอาคารที่ก่อสร้างด้วยอิฐและ ศิลาแลงแสดงให้เห็นว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่มาก่อน นักโบราณคดีขุดพบตะเกียงโรมันสำริดสมัยพุทธศตวรรษที่ 6-7 พบพระพุทธรูปแบบอมราวดีสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 และพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีอีกหลายองค์ สมัยไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 11 รวมทั้งโบราณวัตถุอย่างอื่นๆ อีกมาก เมื่อพิจารณาประกอบกับซากสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลือปรากฏอยู่ ซึ่งมีฝีมือช่างขอมปะปนอยู่ด้วย ก็อาจประมาณอายุอย่างกว้างๆ ได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีอายุตั้งแต่สมัย "ทวาราวดี" ขึ้นไป
           ชุมชนโบราณที่บ้านพงตึกนี้ ตามความเห็นของนักปราชญ์ทางโบราณคดีและประวัติ-ศาสตร์โดยทั่วไป เชื่อว่าเป็นสถานที่แหล่งพักสินค้าของชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายในดินแดนประเทศไทยในสมัยแรก เพราะการพบพระพุทธรูปแบบ "อมราวดี" นั้น ย่อมเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นชัดเจนนอกจากพระพุทธรูปแบบอมราวดีแล้ว ยังได้พบตะเกียงสำริดโรมัน ซึ่งมีอายุราวศตวรรษที่ 6-7 เป็นเครื่องสนับสนุน โดยเหตุนี้บางท่าน เช่น ดร.ควอริช เวลส์ ได้เสนอว่าตะเกียงดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นของคณะทูตโรมันนำเข้ามา
       นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์จึงมีความเห็นว่าบ้านพงตึกคงเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่สำคัญบนฝั่งลำน้ำแม่กลองและเจริญรุ่งเรืองในสมัย "ทวาราวดี" แต่เมื่อขอมมาปกครอง เมืองพงตึกคงจะทรุดโทรมลงกลายเป็นเมืองขนาดเล็ก พวกขอมจึงสร้างเทวสถานไว้แต่เพียงขนาดย่อม
       ใต้เมืองพงตึกลงไปตามลำน้ำแม่กลองตามฝั่งตะวันออกที่ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งชื่อ โกสินารายณ์ เป็นเมืองสมัยลพบุรี
       ใต้เมืองโกสินารายณ์ลงมาตามลำน้ำแม่กลองถึงตัวเมืองราชบุรี บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองเคยเป็นที่ตั้งของเมืองราชบุรีโบราณ มีอายุตั้งแต่สมัยลพบุรีสืบต่อลงมา นอกเมืองออกไปก็ยังพบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยทวาราวดีลงมาอีกหลายแห่ง
       ห่างจากเมืองราชบุรีลงไปทางใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร พบเมืองโบราณขนาดใหญ่เรียกกันว่า เมืองคูบัว สันนิษฐานว่า เป็นเมืองราชบุรีเดิมในสมัยทวาราวดี   ตั้งแต่โบราณกาลมา สองฝั่งลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ และสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
       ชุมชนชนสมัยทวาราวดีที่บ้าน "พงตึก" ในเขตอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นับว่าเป็นเมืองสำคัญมาก เดิมตั้งอยู่ไม่ห่างไกลทะเลมากนัก และเป็นเมืองตั้งอยู่ย่านกลางเส้นทางคมนาคม เป็นที่ชุมชนโบราณแห่งหนึ่งของประเทศไทย ติดตั้งระหว่างดินแดนเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำท่าจีน เจ้าพระยากับเมืองมอญในประเทศพม่า เป็นทางสัญจรของคนมาช้านานหลายยุคหลายสมัย จนถึงสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์   จากการพิจารณาภูมิศาสตร์จะเห็นได้ว่า จากเมืองพงตึกจะเดินทางไปเมืองโบราณอื่นๆ มีเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เมืองคูบัว เมืองราชบุรี (เก่า) เมืองกำแพงแสน เมืองดอนตูม เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง ย่อมไปได้สะดวกทุกทิศทาง โดยมีแม่น้ำหลายสายเป็นเส้นทางคมนาคม
      จากเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่จะติดต่อกันโดยผ่านพระเจดีย์สามองค์ไปยังเมืองมอญและพม่า ย่อมไปมาได้สะดวกมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เมืองโบราณดังกล่าวมาแล้ว ได้ร้างไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเหตุต่างๆ กันดังต่อไปนี้
เพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่ เป็นเหตุให้กันดารน้ำ ผู้คนได้รับความลำบากจึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น
เกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งของเมืองมีที่เพาะปลูก ที่จะทำนา ทำไร่ มีน้อย ขาดน้ำขาดความอุดมสมบูรณ์ พลเมืองเพิ่มขึ้นที่ดินมีน้อยไม่พอจะประกอบอาชีพ จึงคิดชักชวนกันอพยพไปอยู่ที่อื่น
โรคระบาดอย่างร้ายแรง ผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก (โบราณเรียกว่าห่ากินเมือง) จึงพากันหนีโรคภัยไปอยู่ที่อื่น เมืองจึงร้างไป มีเช่นนี้หลายเมือง
ภัยจากศึกสงคราม เมื่อพ่ายแพ้สงครามผู้คนพลเมืองก็ถูกจับกวาดต้อนเป็นเชลยบ้านเมืองถูกข้าศึกทำลายพินาศ กรณีเช่นนี้มีตัวอย่างอยู่มากในประเทศไทยตั้งแต่เหนือจดใต้
 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น